จังหวัดอำนาจเจริญ
จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 พร้อมกับจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดสระแก้ว เดิมเป็นอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยอำเภออำนาจเจริญ (ปัจจุบันคึออำเภอเมืองอำนาจเจริญ) อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันคืออำเภอลืออำนาจ) คำว่าอำนาจเจริญเป็นภาษาเขมร มีความหมายตามตัว คือ อำนาจเจริญ
จังหวัดอำนาจเจริญ
คำขวัญประจำจังหวัด: พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตพระเหลา เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม
ที่ตั้ง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครทางรถยนต์ ประมาณ568 กิโลเมตร มีเนื้อทั้งสิ้น 1,975,780 ไร่ หรือ 3,161.284 ตารางกิโลเมตร
สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในอำนาจเจริญ
วัดพระเหลาเทพนิมิตร
วัดพระเหลาเทพนิมิตร ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข ๒๑๓๔ ห่างจากตัวอำเภอพนาประมาณ ๒ กิโลเมตร พระอุโบสถของวัดมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีพระประธานคือ“พระเหลาเทพ-นิมิตร” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๓ กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวไปเล็กน้อย เนื่องจากมีอิทธิพลของฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มากเป็นต้นว่าเค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้นสัดส่วนของพระเพลา และพระบาทซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้ และสำริด ที่สร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔
วัดไชยาติการาม
ตั้งอยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน วัดนี้มีพระพุทธรูปสำริดประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสูง55 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ และพระพุทธรูปที่วัดวิชุลเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่22 ถึงพุทธศตวรรษที่23
แหล่งทอผ้าไหม
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้อย ตำบลจานลาน เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ทอผ้าไหม จัดเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และเป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร คือ ปลูกหม่อนเลี้ยงตัวไหมเอง ทอผ้าไหมเอง และจัดจำหน่ายผ้าไหมเองด้วย
พุทธอุทยานและพระมงคลมิ่งเมือง
ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ3 กม. บริเวณวัดประกอบด้วย หินดานธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น “พุทธอุทยาน” ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ ปางมารวิชัย องค์พระหน้าตักกว้าง11 เมตร ความสูงจากระดับ พื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ โดยการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กครอบ พระองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีฐานกว้าง8.4 เมตร ยาว12.6 เมตร สูง5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า “พระละฮาย” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระขี่ล่าย” หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ.2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบ เพื่อทำฝายกั้นน้ำ ถือกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ชาวบ้านมักมาบนบานขอพรอยู่เสมอ
ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ในตอนเย็นทัศนียภาพ ทั้งสองฝากฝั่งไทย-ลาว สวยงามมาก เหมาะแก่การถ่ายภาพอาทิตย์ยามอัสดงเป็นอย่างยิ่ง
อุทยานแห่งชาติภูสระบัว
มีเนื้อที่252 ตร.กม. หรือประมาณ145,000 ไร่ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขา สลับซับซ้อน ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ดาน” กระจายอยู่ตามป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง กระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระบัว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า ขนาดใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ลิง บ่าง เม่น กระจง และสัตว์ปีกประเภทต่างๆ ได้แก่ ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นต้น บริเวณเขตอุทยานฯ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ความวิจิตรพิสดารของหินผามีความเด่นเป็น เอกลักษณ์ของตัวเอง ตลอดจนร่องรอยของการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้ พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว
อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน
หรืออ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดก อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ3 กม. เป้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน มีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
วัดถ้ำแสงเพชร
หรือวัดศาลาพันห้อง ตั้งอยู่บนถนนสายอำนาจเจริญ-เขมราฐ ห่างจากตัวเมืองประมาณ18 กม. แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าไปอีกประมาณ2 กม. เป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหารอยู่บนยอดเขาสูง ทางด้านทิศเหนือของวิหารมีถ้ำขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงดงาม ทั่วบริเวณเต็มไปด้วยโขดหินซึ่งสะท้อนแสงเป็นประกายอันเป็นที่มาของชื่อถ้ำ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสายพระอาจารย์ สุภัทโท มีพระภิกษุนานาชาติมาปฎิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ
การเดินทาง
รถยนต์
ใช้ทางหลวงหมายเลข1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข2 (ถนนมิตรภาพ) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข226 นครราชสีมา-สุรินทร์ และใช้ทางหลวงหมายเลข214 สุรินทร์-อำเภอสุวรรณภูมิ แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข202 ผ่านจังหวัดยโสธร และอำเภอป่าติ้ว ถึงจังหวัดอำนาจเจริญ รวมระยะทาง580 กม. หรือสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข1 และหมายเลข 2 จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข226 นครราชสีมา-อุบลราชธานี ถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข212 อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ รวมเป็นระยะทาง704 กม.
รถโดยสารประจำทาง
มีทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ซึ่งเป็นรถโดยสารที่วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ออกจากสถานี ขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นใช้รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอุบลราชธานี-มุกดาหาร-ธาตุพนม ซึ่งจะผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ มี2 บริษัท คือ
บริษัท สายัณห์เดินรถ จำกัด เป็นรถโดยสารธรรมดา มีเวลารถออกดังนี้คือ06.00 น.07.00 น.09.00 น.11.00 น.12.00 น. และเวลา13.00 น. ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่คิวรถตลาดบ้านดอนกลาง รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทร. (045) 242163, 241820
บริษัท สหมิตรทัวร์ เป็นรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งวิ่งระหว่างอุบลราชธานี-นครพนม มีเวลาออกดังนี้คือ06.30 น. และเวลา14.00 น. ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่ บริษัทสหมิตรทัวร์ ถนนเขื่อนธานี ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
รถไฟ
มีรถด่วนและรถเร็วทุกวัน ซึ่งเป็นรถไฟที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และยังมีรถธรรมดา จากนครราชสีมา-อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชสีมา อีกด้วย จากนั้นใช้รถโดยสารประจำทาง ที่วิ่งระหว่างอุบลราชธานี-มุกดาหาร-ธาตุพนม หรือใช้รถประจำทางที่วิ่งระหวางอุบลราชธานี-นครพนม ก็ได้ รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020
เครื่องบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเครื่องบินรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.628-0200 หรือที่อุบลราชธานี โทร. (045) 313340-43 เมื่อถึง จ.อุบลราชธานีแล้วนั่งรถโดยสารต่อไปอำนาจเจริญ
เทศกาลและงานประเพณี
ประเพณีการแข่งเรือยาว
จัดขึ้นในราวเดือน พฤศจิกายน ของทุกปี ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ซึ่งติดกับแม่น้ำโขง มีเรือจากอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เรือจากอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และเรือจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาร่วมแข่งขันเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี
นอกจากนี้ชาวอำนาจเจริญยังได้ฟื้นฟู ประเพณีลงช่วง ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด การลงช่วงเป็นการชุมนุมกันของหนุ่มสาว ฝ่ายสาวจะมีกิจกรรมทอผ้า สาวไหม ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็มาร่วมสนุกโดยบรรเลงเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน และพิณ
No comments:
Post a Comment