นักสู้ MMA แถวหน้าของไทย oneshin หรือครูตอง
นักสู้ MMA แถวหน้าของไทย oneshin หรือครูตอง
Born to Fight ‘การต่อสู้ไม่ใช่แค่ความชอบแต่มันเป็นชีวิตของผม’
เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่าถ้าขึ้นชื่อว่าการต่อสู้แล้วมันคือความรุนแรงและป่าเถื่อน แต่สำหรับคนบางกลุ่มกลับคิดว่าการต่อสู้คือศาสตร์และศิลป์แห่งการป้องกันตัวที่รู้ลึกยิ่งน่าหลงใหล เรากำลังพาคุณไปพบกับนักสู้ MMA(Mixed Martial Arts) แถวหน้าของประเทศไทย ‘oneshin’ ชนนภัทร วิรัชชัย หรือครูตอง ที่ตอนนี้กลายเป็นยอดนักสู้มืออาชีพที่เข้าไปแข่งขันใน ONE FC รายการแข่งขัน MMA ระดับโลก ซึ่งเขาได้ไต่เต้ามาจากมือสมัครเล่นจนเป็นแชมป์ประเทศไทยและได้สานฝันโกอินเตอร์ไปเรียบร้อยแล้ว เราจะมาทำความรู้จักกับครูตองกันให้มากขึ้น Ready To Rumble!
นักสู้ MMA แถวหน้าของไทย oneshin หรือครูตอง
ก่อนมาเป็นนักสู้ MMA ? เริ่มจากเมื่อตอนเด็กๆ ชอบดูหนังต่อสู้ขบวนการ 5 สี ก็อยากจะต่อสู้กับเพื่อนๆ แต่พอสู้จริงเริ่มแพ้เลยเริ่มฝึกการต่อสู้โดยเริ่มจากยูโดก่อนแต่ฝึกไม่จริงจัง จนโตถึง ม.3-ม.4 มีรุ่นพี่มาโชว์วิชาต่อสู้ให้ดูตั้งแต่ไอคิโด้จนไปถึงมวยจีน ตอนขึ้นมหา’ลัยมีการแข่งขัน MMA สมัครเล่นเกิดขึ้น ครั้งแรกแพ้คะแนนแต่พอใจกับฟอร์มตัวเองนะ จากนั้นก็เลยทำทีมทำชมรมขึ้นมา ทุ่มเทกับการซ้อมมากจนกลับไปแข่งคราวนี้ได้รองแชมป์โดยไปแพ้รุ่นพี่ทีมชาติท่านหนึ่ง เลยไปฝึกมวยจริงจังและซ้อน MMA จริงจัง พอกลับมาใหม่ปี 2010 ได้แชมป์สมัครเล่นและได้มีโอกาสเข้าไปแข่งในรายการ ONE FC รายการของเอเชียที่ใหญ่ระดับโลก เพราะนักสู้มาจากทั่วโลกแต่จะให้ราคากับนักสู้ทางเอเชียมากกว่า เพราะอยากจะปั้นนักสู้ชาวเอเชียส่งออกไประดับโลกให้มากขึ้น
ชีวิตช่วงนี้ทำอะไรบ้าง? ที่ทำอยู่ 2 อย่างคืองานสอนกับงานซ้อมจริงๆ ผมชอบงานซ้อมมากกว่าแต่ว่าความรู้เรื่อง MMA ของคนไทยรวมทั้งผมถือว่าน้อย ต้องมีการอัพเดทเรียนรู้ของใหม่ตลอด เวลาช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผมเรียนรู้เรื่องผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬาเพิ่มเพื่อเพิ่มทักษะในการสอนและพัฒนารูปแบบการฝึก
ถ้าการฝึก MMA เหมือนการเล่นเกมส์เก็บสกิลการต่อสู้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ครูตองมีสไตล์การต่อสู้กี่แบบ? ผมเริ่มจากมวยจีนและยูโดเป็นหลักจากนั้นได้มาฝึกมวยไทยและมวยสากลซึ่งมาเติมเต็มมวยจีน การชกของผมเลยไม่มีรูปแบบชัดเจน ส่วนยูโดจะเป็นตัวที่นำไปสู่มวยปล้ำและยูยิตสู
จุดเด่นของครูตอง? คือความมั่วครับ คู่ต่อสู้จับทางไม่ได้ มีคนบอกว่าสไตล์ของผมเป็น Unorthodox Funk Style คือจับทางไม่ถูกมีคนเคยสู้กับผมวิจารณ์ว่าผมชกแบบไร้รูปแบบ สักแต่เหวี่ยงหมัดแต่มันโดนจริงๆ ความจริงคือผมคิดยังไงก็ต่อยออกไปเลยรูปแบบลักษณะนี้ออกมาจากมวยจีน ซึ่งเห็นช่องก็อัดเข้าไป แต่ที่คู่ต่อสู้ไม่เห็นเพราะเราซ่อนเอาไว้ คนจะกลัวหมัดฮุคขวาของผมเพราะมันลอดออกมาจากไหนไม่รู้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน
เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในอนาคต? เป้าหมายจริงๆ คืออยากต่อยไฟท์สองไฟท์ก็อยากสอนแล้วครับ กลัวเจ็บครับพูดตรงๆ กลัวการซ้อมหนักเพราะผมไม่ใช่นักกีฬาโดยกำเนิด แต่ดันชอบด้านนี้แล้วพอทำออกมาได้ดี ก็รู้สึกว่าเมื่อคนขี้แพ้อย่างผมถ้าเอาจริงสามารถทำได้คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน ซึ่งผมมาได้ขนาดนี้มันเกินความคาดหมาย ไม่เคยคิดว่าจะก้าวมาในระดับโลก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยดูในคลิปอย่างเดียว พอตอนนี้ทำได้ก็อยากให้โลกเห็นว่าถ้าการต่อยเหมือนอาหาร โลกนี้กินฟาสฟู้ดกันน่าเบื่อแล้วโดนอาหารไทยบ้างก็ดีนะ
ไอดอลที่ชื่นชอบหรือเป็นแรงบันดาลใจ? คนแรก Frank Mir ดูง่วงๆ แต่ออกอาวุธฉลาด จับล็อคก็เก่ง อีกคนชอบ Dominic Cruz ชีวิตดูมีความสุข อุ้มหมาไปยิม ซ้อมเสร็จกลับบ้านทำกับข้าวกิน อยากมีชีวิตแบบนั้นบ้าง ส่วนสไตล์การต่อสู้ผมก็ยึดเขาเป็นต้นแบบนะ เหมือนมั่วแต่เป็นนักสู้ที่ฉลาด
ชีวิตนักสู้เป็นชีวิตที่คุณรักมันขนาดไหน? ก่อนหน้านี้เคยทำมาหลายอย่างแล้วแต่ไม่มีอะไรที่ทำให้เราคิดถึงตลอดเวลาเหมือนการต่อสู้ ไม่ใช่ว่าคิดอยากทุบคนแต่คิดว่าวิธีไหนจะพัฒนาเราไปได้เรื่อยๆ หรือสร้างสรรค์การสู้รูปแบบใหม่ๆ เพราะเราเป็นนักศิลปะการต่อสู้ที่ต้องเรียนรู้ค้นหามันต่อไป สนุกดีนะ
คนภายนอกมองว่า MMA เป็นกีฬาที่มีแต่ความรุนแรงราวกับจะฆ่าแกงกัน? จริงๆ ผมก็มองแบบนั้นนะ (หัวเราะ) เพราะยังมีอารมณ์กลัวเจ็บอยู่ แต่ชีวิตของการฝึกการต่อสู้ต้องค้นหาวิธีที่ทำให้เราไม่รับความเจ็บแต่ควบคุมเกมส์ให้เป็นของเรา หลักในการต่อสู้คือให้คิดว่าเราเป็นเผด็จการเขาจะทำอะไรก็ได้แต่เราต้องคุมทั้งหมด เขาเก่งมาเราจะไม่เล่นด้วย เราจะเล่นเกมส์ของเรา คนภายนอกมองว่าโหดร้ายก็ไม่ผิด แต่ฝึกการต่อสู้คือการทำให้ตัวเองปลอดภัย ป้องกันตัวจากความโหดร้าย จะว่าไปกีฬาอะไรก็โหดครับ บอลเสียบกันขาหักเยอะแยะ
สังเกตว่าครูตองจะให้เกียรติคู่ต่อสู้ที่เจอทุกคน? ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไงคู่ต่อสู้ก็คือครูของเรา เวลาชกกับใครต้องใช้เวลาเป็นเดือนดูเขาทั้งวัน ถึงวันจริงเขาก็มาทำงานของตัวเองเราก็ทำงานของเรา รู้ว่าต่างคนต่างฝึกหนักกันมา แค่มาทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ดีที่สุด เราจะให้ความเคารพเขาก็ไม่แปลก
ก่อนการแข่งจริงต้องเตรียมตัวอะไรบ้างครับ? โค้ชเกมส์แพลน การดูวีดิโอคู่แข่งก็สำคัญ อีกปัจจัยหนึ่งคือผมเป็นพวกตื่นเต้น ต้องพึ่งการนั่งสมาธิ ฟังเพลงก็จะช่วยได้เยอะ เพลงที่ฟังตลอดก่อนแข่งคือ ‘ความฝันอันสูงสุด’ เพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ฟังตลอด 3 วันก่อนแข่งจนเดินขึ้นเวที รู้สึกว่าฟังแล้วสบายใจและฮึกเหิมอย่างบอกไม่ถูก ส่วนเพลงเปิดตัวทำให้เกิดความรู้สึกชิน เป็นเทคนิคการสะกดจิตนิดนึง คือว่าเวลาเราซ้อมแล้วมั่นใจถึงขีดสุดให้ฟังเพลงแล้วจำอารมณ์นั้นไว้ ถึงเวลาจริงเมื่อเราได้ยินเพลงนั้นอารมณ์นั้นจะกลับมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งหลังๆ ผมใช้เพลง ‘ความเชื่อ’ ของบอดี้สแลมครับช่วยได้เยอะเลย
สังเกตว่าระหว่างสู้ครูตองมักจะมีรอยยิ้มเสมอ? การที่ยิ้มตอนแรกคือเราสนุก พอเอ็นจอยไปนานๆ แล้วเรารู้สึกว่ามันกลายเป็นเทคนิค คนที่เป็นคู่ต่อสู้เราเวลาเห็นก็เสียขวัญไปเหมือนกันและการยิ้มก็เปลี่ยนเกมส์หลายหนแล้ว บางทีตั้งรับลูกเตะมาเราเจ็บแต่ยิ้มไว้ก่อนเพื่อทำให้เขาไขว้เขวว่าไม่โดนจุดที่ต้องการ อีกอย่างมันดีกับตัวเรา ผมไม่ใช่คนเครียด เราควบคุมเกมส์ของเราไป
ฉายา Oneshin มาจากไหน? ตอนแรกคิดจะใช้เป็นชื่อลูก ‘วัน’ คือที่หนึ่ง ‘ชิน’ เป็นภาษาบาลีแปลว่าชนะ แต่ถึงตอนนี้คิดว่าคงไม่ได้มีลูกง่ายๆ ตอนต่อยอาชีพเลยเอาชื่อนี้ขึ้นเป็นฉายาแทน ฝรั่งก็มีงงกันบ้าง (หัวเราะ)
จะสู้ไปอีกนานเท่าไหร่? ตอนนี้ 26 แล้ว ตั้งใจว่าอายุ 30 ปีจะขอดูแรงตัวเองอีกที ถ้าอันดับดีก็อาจจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
สำหรับคนที่อยากจะเป็นนักสู้แบบครูตอง? ถ้าอยากทำจริงๆ ทุ่มเทกับมันให้ถึงที่สุดก่อน ไม่ต้องทำให้เป็นชีวิตก็ได้ ให้เป็นไลฟ์สไตล์ก็พอ ทำให้เป็นทำให้รู้จนถึงจุดหนึ่ง อย่าทำครึ่งๆ กลางๆ ฝึกให้เป็นลำบากกว่าใช้เวลานานกว่าแต่คุณเข้าใจมัน เหมือนคุณเป็นต้นไม้ ถ้าโตพอคุณจะแบ่งเงาให้คนอื่นได้นี่คือสิ่งที่อยากฝากจริงๆ
นิยามคำว่า MMA สำหรับคุณ? มันคือการต่อสู้จริงๆ ที่ใกล้เคียงการสู้จริงมากที่สุด แต่มีความปลอดภัยที่สุด
MMA (Mixed Martial Art) คือ การต่อสู้ที่รวมเอาศิลปะการต่อสู้หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่น มวยไทย มวยสากล ยูโด มวยปล้ำ คาราเต้ แซมโบ บราซิลเลี่ยน ยูยิสสู มีทั้งการเตะต่อย และการทำให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ รายการที่โด่งดังที่สุดในปัจจุบันคือ UFC (Ultimate Fighting Championship) ซึ่งรวมนักสู้เก่งกาจระดับโลกมารวมตัวกันมากที่สุด
สำหรับคนที่คันไม้คันมืออยากทดสอบความสามารถของตัวเองโดยการลงแข่ง MMA ในบ้านเรานั้นก็มีรายการแข่งอยู่หลายรายการ แต่สำหรับมือสมัครเล่น War In The Cage คือตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะถือกำเนิดขึ้นจากคนที่คร่ำหวอดและรักในกีฬา MMA อย่างแท้จริง ซึ่งต้องการพัฒนาวงการต่อสู้ในกรง 8 เหลี่ยมให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นและทำออกมาได้เป็นที่ยอมรับเป็นวงกว้าง เราจะมาคุยกับหัวหอกผู้ก่อตั้งการแข่งขันศึก MMA : War In The Cage เกิดเป็นรูปเป็นร่างดังทุกวันนี้
กำเนิด War In The Cage จุดเริ่มต้นของ War In The Cage เกิดขึ้นปี 2011 ปัจจุบันเป็น War In The Cage 6 เกิดจากการทำขึ้นมาขำๆ ในตอนแรกไม่ได้หวังผลเลยว่าจะมีคนมากน้อยแค่ไหน เพราะเราเป็นครูสอน MMA อยู่ที่ธรรมศาสตร์รังสิต สถานที่อุปกรณ์มีพร้อมอยู่แล้ว จากนั้นเลยส่งหนังสือเชิญชวนกัน War In The Cage มีมากัน 20 กว่าคนซึ่งเกินความคาดหมาย
เป้าหมายที่วางไว้ ความตั้งใจแรกคืออยากให้คนที่ฝึก MMA มาได้มีโอกาสหาประสบการณ์ ได้มีที่แสดงฝีมือและความสามารถของเขา ช่วงหลังมีการพยายามแยกมือใหม่มือเก่าเพื่อให้มันแฟร์ที่สุด แยกทัวร์นาเม้นท์กันชัดเจน
จุดเด่นของศึก War In The Cage คิดว่าเป็นเรื่องของความหลากหลายของนักกีฬา ซึ่งเราพยายามที่จะแบ่งทั้งมือใหม่มือเก่าและเยาวชนให้ชัดเจนเป็น 3 ระดับ ซึ่งได้รับความนิยมทั้งหมด เห็นจากยอดสมัครมาเยอะ ในส่วนของมือเก่าบางคนเป็นนักสู้ที่มีหน้ามีตามาจากรายการอื่นอยู่แล้ว ผมก็เลยมองว่าจุดเด่นของงานนี้เหมือนเป็นงานรวมญาติมากกว่า
ในฐานะผู้จัดรับมือกับกระแสภายนอกที่มองว่าเป็นกีฬาโหดร้ายป่าเถื่อนยังไง ภาพลักษณ์ดูรุนแรงเพราะว่าใช้เวทีเป็นกรง ไม่มีทางออก บางคนมองไปถึงว่าเหมือนสัตว์กัดกันหรือเปล่า นวมที่ใส่แข่งขันบางไปมั้ย ท่วงท่าในการต่อสู้ที่ดูรุนแรง แต่แท้จริงแล้วที่มองว่าออกจากรงไม่ได้มันสามารถออกได้ถ้าหมดยก กรรมการที่ดูแลอยู่ก็จะต้องเป็นนักกีฬาที่มีประสบการณ์ที่สามารถดูออกว่านักกีฬาเกิดอันตรายหรือเปล่า บางทีเช่นนักกีฬาฝืนกรรมการจะดูออกสามารถจับยุติได้เลย ในส่วนของนักกีฬาถ้ารู้ตัวว่าไม่ไหวสามารถแท็บเอาท์ได้
เทียบความรุนแรงกับกีฬาอื่น เพื่อให้เห็นภาพถ้าเทียบกับมวยไทยมวยสากลที่เป้าหมายคือต่อยหัวเตะหัวการบาดเจ็บจะรุนแรง โดยเฉพาะมวยสากลที่เน้นแต่หัว พอโดนเยอะๆ จะบาดเจ็บเรื้อรัง แต่ถ้า MMA นอกจากเตะต่อยแล้วยังมีปล้ำ บางทีเข้าไปแข่งไม่ทันเจ็บตัวก็มีนะ เพราะมีการซับมิทชั่นท่ารัดท่าล็อคจบ รวมถึงเรื่องการฝึกซ้อม ถ้าเป็น MMA จะแบ่งเป็นวันนี้เตะต่อย พรุ่งนี้อาจจะเป็นท่านอน ส่วนมวยสากลต่อยทุกวันกลายเป็นเจ็บสะสมได้ ส่วนในแง่ของอายุการใช้งานของนักกีฬาจะมากกว่า เห็นได้จากมวยไทยหรือมวยสากลนักกีฬา 35-40 ก็แผ่วแล้ว แต่ขณะที่นักกีฬา MMA ยังแข่งได้อยู่ ซึ่งนักมวยไทยผันตัวเข้าสู่วงการก็หลายคน อย่างแรมบ้า,เดชดำรงค์ ก็เป็นระดับแชมป์มาแล้ว
ความคาดหวัง อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่กีฬา MMA เนื่องจากว่ายังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นกีฬา แต่ในวันจัดงานคนที่เข้ามาดูไม่เคยมีใครบอกว่าโหด มีแต่คนบอกว่าสนุกน่าเล่น ซึ่งผมมองว่าบางครั้งคนอาจติดภาพลักษณ์จากการโปรโมทที่เลือกแต่ช็อตเลือดออกหรือแอคชั่นโหดๆ
เสน่ห์ของการต่อสู้ MMA ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน MMA มีสิ่งที่เป็นศาสตร์เฉพาะตัวของมันอย่างเช่นการ Ground and Pound ไม่มีการต่อสู้ชนิดไหนเหมือนแน่นอน มี 2 สไตล์หลักๆ ที่เห็นบ่อยคือยูยิตสู จะจับคู่กับมวยไทย ส่วนมวยสากลจะจับคู่กับมวยปล้ำ เพราะศิลปะการต่อสู่ 2 อย่างจะช่วยเสริมกันสามารถต่อยได้แล้วเข้าแท็คได้เลย
เคล็ดลับในการเป็นแชมป์ใน War In The Cage นอกจากความแข็งแรง เทคนิคแล้ว ใจสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าใจสู้อย่างเดียว ต้องใจซ้อมด้วย ไม่ได้หมายความว่าแค่ขึ้นไปแล้วสู้ให้เต็มที่เท่านั้นเพราะตอนแข่งมันแค่ 10% ที่เหลืออยู่ที่การซ้อม เรียกว่าแพ้ชนะอยู่ที่การซ้อมเป็นหลัก
ข้อมูลจาก
FB : WarInTheCage
No comments:
Post a Comment