ส่องประเทศแบน
นับได้ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องกระแสอนุรักษ์ และลดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างแพร่หลาย หลังจากพบว่า ปัญหาขยะที่แพร่กระจายลงไปสู่ธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในปีที่แล้ว มีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกมีมากถึงประมาณ 2 ล้านตันต่อปี โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับ 6 ของโลกในฐานะประเทศที่ปล่อยพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ขณะที่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
แม้ในประเทศไทย จะมีการรณรงค์เรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก และหันมาใช้ถุงประเภทอื่น ๆ ที่ใช้ได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการออกกฎหมายมาบังคับใช้เกี่ยวกับการใช้ถุงพลาสติก เหมือนอย่างในหลายประเทศทั่วโลก ที่ได้มีการออกกฎมาบังคับใช้ อาทิ ห้ามร้านสะดวกซื้อให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า การเก็บภาษีถุงพลาสติก และในบางประเทศรุนแรงถึงขั้น ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า สต็อก จำหน่าย แจกจ่ายถุงพลาสติก โดยกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไว้อย่างชัดเจน
รายนามประเทศที่มีมาตรการลดจำนวน ‘ขยะพลาสติก’ ไม่ได้มีเพียงประเทศพัฒนาแล้ว
ในแถบเอเชียที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วคือ ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา อินเดีย อิสราเอล ไต้หวัน และ บังกลาเทศ
- ฮ่องกง
ฮ่องกง มีการใช้มาตรการให้ร้านค้าปลีกเก็บค่าถุงพลาสติกที่ใช้สำหรับใส่สินค้ากับลูกค้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากก่อนหน้านี้ ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ใช้ถุงพลาสติกเปลืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
- จีน
กว่า 10 ปีมาแล้วที่จีนออกประกาศยกเลิกการแจกถุงพลาสติกในห้างร้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกให้น้อยลง ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน โดยมุ่งเน้นการใช้ถุงผ้า และตระกร้าในการจ่ายตลาด ซึ่งนอกจากจะช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการได้อย่างมาก
- อินโดนีเซีย
การเก็บค่าถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อการลดปริมาณขยะ อินโดนีเซีย ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่นำมาตรการนี้มาใช้
นอกจากนี้อินโดฯ ยังเป็นประเทศที่มีการผลิตถุงพลาสติก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งผลิตมาจากมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ง่าย ทั้งยังเคลมว่า คนและสัตว์ยังสามารถรับประทานถุงชนิดนี้ได้โดยไม่เป็นอันตรายอีกด้วย
- มาเลเซีย
ทางการมาเลเซีย เริ่มแบนหลอดพลาสติกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และเกาะลาบวน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 หลังจากก่อนหน้านี้มีการประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว พร้อมทั้งระบุว่า หากธุรกิจใดยังคงใช้หลอดพลาสติกหลังเริ่มต้นมาตรการนี้ อาจถึงขั้นถูกยึดใบอนุญาตประกอบกิจการและถูกปรับได้
- เมียนมา
เมียนมาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เริ่มดำเนินมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายได้มานับตั้งแต่ปี 2554 โดยไม่อนุญาตให้เก็บถุงพลาสติกไว้หรือจำหน่ายตามร้านค้าและร้านขายของชำ โดยโรงงานผลิตถุงพลาสติกที่ไม่หยุดการผลิตจะถูกยึดใบอนุญาตดำเนินกิจการ และอาจถูกดำเนินการตามกฎหมายอีกด้วย
- อินเดีย
อินเดียมีกฎหมายยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแล้วอย่างน้อย 18 รัฐ รวมถึงเขตปกครองที่ดูแลโดยเมืองหลวงกรุงนิวเดลี
เป็นผลจากวิกฤตขยะที่เข้าไปอุดตันในท่อระบายน้ำ สร้างผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงฤดูมรสุม โดยรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่ง มีข้อกำหนดการยกเลิกถุงพลาสติกตามประเภทและความหนาของถุงที่ใช้
- เคนยา
ทางการเคนยา เริ่มบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2560 ทั้งจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติก หากฝ่าฝืนจะต้องเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.25 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในโลก
รายนามประเทศในแถบยุโรปที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดนั่นก็คือ เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี สวิซเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย และ เยอรมัน
ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู และ รัฐสภายุโรป ได้ข้อตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการออกกฎห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาทิ จานชาม ช้อนส้อม มีด หลอด ก้านคอตตอนบัต รวมถึงภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม
คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า เป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้น โดยประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปก็แสดงให้เห็นว่าพร้อมแล้วที่จะแก้ปัญหาขยะล้นมหาสมุทรอย่างจริงจัง
โดยมุ่งเน้นเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต เกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สิ้นเปลืองน้อยลง รวมทั้งระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้ว โดยเฉพาะ ขวดพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร ทิชชูเปียก ถุงพลาสติก ก้นกรองบุหรี่ เช่นมีเป้าหมายว่าต้องมีการรีไซเคิลขวดพลาสติกให้ได้ 90% ภายในปี 2025
ทวีปอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย แห่งสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ เม็กซิโก
- สหรัฐ
สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศบริโภคนิยมมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่กระนั้นเมื่อปี 2557 นายเจอร์รี่ บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เซ็นอนุมัติผ่านกฎหมายแบนการใช้ถุงพลาสติก โดยการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้า นำถุงเก่ากลับมาใช้ใหม่ โดยกำหนดให้ร้านค้าสามารถคิดค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้าที่ต้องการถุงพลาสติกได้
- แคนาดา
แคนาดา ออกกฎให้ผู้ค้าปลีกต้องจัดเก็บค่าถุงพลาสติกในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้นำถุงมาจากบ้านอย่างน้อย 5 เซนต์ต่อถุงพลาสติกหนึ่งใบ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณและขนาดของถุงพลาสติก หากลูกค้านำถุงพลาสติกเหล่านั้นมาคืน ก็จะได้รับเงินคืนกลับไป ส่วนเงินที่ได้จากการขายถุงพลาสติก ผู้ขายสามารถนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องนำไปให้รัฐบาล
- เม็กซิโก
เม็กซิโก ผ่านร่างกฎหมายที่จะลงโทษเอาผิดกับเจ้าของร้านหรือผู้ประกอบการที่นำถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า ยกเว้นถุงพลาสติกที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษปรับ 77,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2,786,400 บาท และจำคุก 1 วันครึ่ง
ประเทศในแถบอเมริกาใต้ ได้แก่ โคลัมเบีย อาร์เจนตินา และประเทศในแถบโอชิเนีย ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย
- นิวซีแลนด์
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีหญิง จาซินดา อาเดิร์น เผยถึงกระแสที่นิวซีแลนด์กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นทุกขณะ บวกกับกระแสความต้องการของประชาชนให้รัฐบาลมีนโยบายจริงจังในการลดประมาณถุงพลาสติกในประเทศ ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีพรรคกรีนร่วมด้วยจึงมีมติเห็นชอบออกกฎหมายห้ามการใช้ถุงพลาสติกเพื่อการพาณิชย์
- ออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย ประกาศมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และให้เปลี่ยนไปใช้ถุงแบบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แทน ทำให้รัฐบาล ได้รับเสียงยกย่องจากบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
แนวโน้มการจำกัดจำนวนถุงพลาสติกในประเทศไทย
เนื่องด้วยวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีถือเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันริเริ่มโครงการอนุรักษ์เพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ และเพื่อปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นความสำคัญของทรัพยากร ธรรมชาติ
นอกจากนี้ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้จัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ
โดยในวันสิ่งแวดล้อมไทยปี 2561 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ จะมีการจัดแคมเปญรณรงค์งดการให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วพร้อมกัน นอกจากรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกแล้ว หน่วยงานรัฐและเอกชนยังเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้าแทน เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯได้ กำหนดอุทยานแห่งชาติ 154 แห่ง ชายทะเล 24 จังหวัด รวมถึงสวนสัตว์ทั่วประเทศทั้ง เขาดิน เขาเขียว เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา อุบลราชธานี ขอนแก่น และคชอาณาจักรสุรินทร์ จะเป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติกหูหิ้ว-โฟมบรรจุอาหาร
โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทยที่มีการใช้กันเป็นจำนวนมาก ในทำนองว่าให้ประชาชนช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกลง
No comments:
Post a Comment